ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้ว เขต 1, สำนักงานจังหวัดนนทบุรี, วิทยาลัยเทคนิคจันทบุรี และ สำนักข่าวเจ้าพระยา
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว น้ำพระราชหฤทัยและพระมหากรุณาธิคุณต่อเยาวชนไทย
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชปณิธานที่มุ่งมั่นจะสร้างโอกาสให้กับเยาวชนที่จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของชาติ โดยมีพระราชดำริให้นำพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และทรัพย์จากผู้บริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนที่ยากจน ได้มีโอกาสศึกษาอย่างต่อเนื่อง ทรงพระราชดำริให้จัดทำ “โครงการทุนการศึกษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2552 และต่อมาทรงพระราชดำริให้จัดตั้ง “มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” หรือ ม.ท.ศ. เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553
ทรงเป็นองค์ประธานกรรมการ ม.ท.ศ.
พระองค์ทรงให้นำโครงการทุนการศึกษาฯ มาดำเนินการภายใต้ ม.ท.ศ. มีกลไก คณะกรรมการ ม.ท.ศ. ซึ่งทรงเป็นองค์ประธานกรรมการ มีคณะอนุกรรมการ โดยความร่วมมือของสำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ฯ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มาช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนงานให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ ที่ ม.ท.ศ. ที่มุ่งเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนที่เรียนดี ขยันหมั่นเพียร ประพฤติดี มีคุณธรรม และฐานะยากจน ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงโดยสนับสนุนทุนการศึกษาแก่เยาวชนที่กำลังจะจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ให้มีโอกาศศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายไปจนจบปริญญาตรีหรือเทียบเท่าในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความรู้ความสามารถและความต้องการของผู้เรียนโดยไม่มีภาระผูกพันต้องใช้ทุนคืนและเมื่อจบการศึกษาจะเปิดโอกาสให้เข้าทำงานเป็นข้าราชบริพารในพระองค์ฯ ตามความสมัครใจ
พระราชทานหลักการจัดสรรทุนพระราชทาน
ในการดำเนินงานโครงการทุนฯ พระองค์พระราชทานหลักการ ให้กระจายทุนครบในทุกจังหวัด และดำเนินการด้วยการแสวงหา คัดเลือก คัดสรร และกลั่นกรอง จนได้ผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้ารับพระราชทานทุน และทรงเน้นย้ำว่า
“…เมื่อทำโครงการมาแล้ว จำเป็นต้องศึกษา ติดตาม และพัฒนาแผนในการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง การทำงานที่ได้ผล ต้องศึกษาข้อมูล มีการปรับแผนให้ทันสมัย และมีความใส่ใจที่จะทำงานต่อเนื่อง…”
คณะกรรมการมูลนิธิฯ และคณะกรรมการบริหารจัดการทุนพระราชทานได้น้อมรับพระราชดำริไปกำหนดหลักเกณฑ์การพระราชทานทุนและวิธีการคัดเลือกคัดสรร และกลั่นกรองนักเรียนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมโดยประสานความร่วมมือกับคณะกรรมการระดับจังหวัดซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานเพื่อแสวงหาคัดเลือกคัดสรร และกลั่นกรองจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ และมีกระบวนการสอบทานอย่างรอบคอบ จนได้ผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดละ 2 รายต่อปี เป็นชายและหญิงเท่า ๆ กัน รับทุนพระราชทานในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ทุนละ 18,000 บาท ต่อปีในสายสามัญ และทุนละ 22,000 บาทต่อปีในสายอาชีพต่อเนื่องไปจนจบปริญญาตรีหรือเทียบเท่า โดยจะครอบคลุมทั้งค่าเรียน ค่าหอพักตามที่จ่ายจริง สำหรับค่าครองชีพ ค่าหนังสืออุปกรณ์การเรียนจัดสรรให้เท่ากัน 58,000 บาทต่อคนต่อปี
เรียนดี ความรู้ดี การงานดี ชีวิตสดใส ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ
นักเรียนทุนพระราชทานทุกคนล้วนมีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับโอกาสในการศึกษาอย่างมั่นคงและต่อเนื่องช่วยให้รอดพ้นจากอุปสรรคที่ขัดสน ยากจน ส่งผลให้มีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความมุ่งหวังในอนาคตซึ่งนักเรียนทุนพระราชทานรุ่นแรกจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในปี 2559 นักเรียนทุนพระราชทานต่างน้อมนำยึดมั่นปฏิบัติตนตามแนวพระราชดำรัส "เรียนดี ความรู้ดี การงานดี ชีวิตสดใส ทำประโยชน์ให้กับ ประเทศชาติ" มาเป็นเป้าหมายในการดำรงตนในฐานะนักเรียนทุนพระราชทาน ที่มีความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เติบโตเป็นกำลังคุณภาพของประเทศ ที่พร้อมตอบแทนคุณแผ่นดิน ดังบทเพลงต้นกล้าของแผ่นดินที่เป็นเสียงจากหัวใจและความมุ่งมั่นของนักเรียนทุนฯ ว่า
“…จะขอสืบสาน ปณิธานที่ทรงชี้นำ ลูกจะจดจำ น้อมนำไปเป็นแนวทางขอสัญญา จะรักษาคุณความดี มีศักดิ์ศรี เป็นคนดีของแผ่นดินขอยึดมั่นสถาบันชั่วชีวิน ตอบแทนแผ่นดิน ตราบสิ้นลมหายใจ…”